
เตรียมพร้อม!
ครั้งแรกใประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีอัตราผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไปมากกว่า 20% แต่คำถาม คือ เราพร้อมที่จะดูแลผู้สูงอายุในบ้านกันแล้วหรือยัง?
ชีวิตในแต่ละช่วงวัยมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ทำให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนตามไปด้วย นอกจากวัยเด็กที่ต้องระวังในเรื่องของอุบัติเหตุ อาหารการกินแล้ว วัยสูงอายุก็มีความสำคัญที่ต้องระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะบ้านที่ท่านจะใช้เวลาอยู่มากที่สุด ฉะนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมสำหรับดูแลผู้สูงอายุภายในบ้านกัน
1. โครงสร้างของบ้านที่โปร่งโล่ง มีพื้นที่เพียงพอ
บ้านคือพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลามากที่สุด หากใครที่มีผู้สูงอายุภายในบ้านคงจะทราบกันดีว่า โครงสร้างภายในบ้านจะถูกปรับเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับท่าน รองรับการเคลื่อนไหวของท่าน ไม่ว่าจะเดิน นอน หรือช่วงกลางคืน เพราะตามสถิติแล้ว บ้านคือที่ที่ผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุบ่อยที่สุด การสร้างบ้านให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งจำเป็นแรกๆ ที่ควรเตรียม
2. พื้นบ้าน
ผู้สูงอายุจะมีอัตราการเคลื่อนไหวที่ช้ากว่าวัยอื่น เนื่องจากความแข็งแรงของร่างกาย คุณภาพสายตาที่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะสายตายาว ทำให้การเคลื่อนไหวอาจะผิดจังหวะจากการกะระยะพลาด พื้นบ้านที่ใช้เดิน ทางต่างระดับ เข้าห้องน้ำ ห้องครัว ยิ่งต้องออกแบบอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ลื่นและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยบางบ้านอาจเลือกปูพรมเพื่อการยึดระหว่างเท้ากับพื้นตอนเดินของท่าน และยังรองรับอุบัติเหตุเล็กน้อยอย่างการล้มที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
3. ห้องน้ำส่วนเปียก ส่วนแห้ง
อุบัติเหตุภายในห้องน้ำเกิดขึ้นได้บ่อยที่สุด เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ห้องน้ำจะเปียกทำให้เกิดการลื่นล้มได้ง่าย ห้องน้ำในบ้านผู้สูงอายุจึงควรแบ่งแยกโซนระหว่าง โซนอาบน้ำ และโซนสุขภัณฑ์ อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นมาพื้นที่ส่วนอื่นจนเกิดอันตราย รวมถึงสร้างราวบันไดเพื่อเพิ่มความสะดวกเมื่อผู้สูงอายุมาใช้ห้องน้ำด้วย
4. ทางลาด
บ้านใดที่มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น อย่าลืมเตรียมทางลาดสำหรับการเคลื่อนไหวของรถเข็น เริ่มตั้งแต่ ทางเข้าบ้านก่อน หรือจะรวมถึงพื้นที่ที่เชื่อมระหว่างห้องเช่นห้องน้ำไปห้องครัว ห้องนั่งเล่นไปห้องน้ำ
ผู้สูงวัยบางท่าน ไม่อยากให้ลูกหลานลำบากจึงเลือกเคลื่อนไหวบนรถเข็นด้วยตัวเอง หากพื้นที่ไม่เตรียมพร้อมสำหรับรถเข็น จะยิ่งเกิดอันตรายได้ง่าย ที่สำคัญคือหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ผู้สูงวัยจะลุกตัวได้ยากเพราะจะถูกรถเข็นทับจนเหตุการณ์อันตรายกว่าเดิม การเตรียมทางลาดสำหรับท่าน ก็ช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
5. ราวจับพยุงตัว
เพราะการเคลื่อนไหวที่ไม่สะดวกนักเหมือนวัยอื่น การจะเคลื่อนที่แต่ละครั้งจึงต้องใช้เวลา ยิ่งบ้านใดมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ขึ้นไป ยิ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องของราวจับในพื้นที่ที่ผู้สูงอายุภายในบ้านเคลื่อนไหวบ่อยๆ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องดูทีวี ควรมีราวจับให้ผู้สูงอายุเดินไปไหนได้สะดวก เพราะปกติท่านเลือกที่จะจับตามโต๊ะกำแพงต่างๆ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทรงตัวเท่าไรนัก หากหน้ามืดขึ้นมา จะเป็นเรื่องใหญ่ ราวจับพยุงตัวจึงช่วยให้ท่านเคลื่อนไหวสะดวกขึ้น
6. ห้องนั่งเล่นที่พร้อมสำหรับทุกกิจกรรม
ห้องนั่งเล่นคือพื้นที่ความสุขที่ผู้สูงอายุใช้เวลามากที่สุด ทั้งดูหนังฟังเพลงอ่านหนังสือ เล่นกับหลาน พื้นที่ตรงนี้จึงต้องมีอากาศปลอดโปร่ง ถ่ายเทสะดวก มีแสงเข้ามาช่วยให้สายตาของท่านมองได้ชัดเจนมากขึ้น ยิ่งเพิ่มช่วงเวลาความสุขของท่านด้วย บ้านผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จึงใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งการทำกิจกรรมหลักภายในครอบครัว
7. พื้นที่ทำกิจกรรม
ใครว่าผู้สูงอายุจะต้องอ่านหนังสือธรรมะกันอย่างเดียว? ท่านก็เหมือนวัยพวกเราที่มีกิจกรรมอดิเรกทำ เราจึงต้องเตรียมพื้นที่สำหรับกิจกรรมของพวกท่านด้วย เช่น พื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่ทำสวน พื้นที่อ่านหนังสือ หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน ในส่วนนี้สามารถสร้างได้ในหลายๆ พื้นที่ภายในบ้าน เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกเบื่อกับสิ่งเดิมๆ มากจนเกินไป
8. เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ
หากพูดถึงเรื่องเฟอร์นิเจอร์ในบ้านผู้สูงอายุต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหลี่ยมคมของขอบโต๊ะ เก้าอี้ ความสูงเตียง เพื่อความสะดวกไม่ให้ท่านต้องก้มมากนักเพราะผู้สูงอายุหน้ามืดได้ง่าย หากมีเฟอร์นิเจอร์ที่สูงเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงน้ำหนักที่ต้องเบา จับถนัดมือ รวมถึงปลั๊กไฟควรอยู่ระดับอก จะได้ไม่ต้องให้ท่านก้มลงจนเกิดอาการหน้ามืดขึ้นมา
9. ประตู
มาถึงเรื่องที่หลายคนมองข้าม นั่นก็คือประตูในห้องต่างๆ ต้องมีความกว้างพอสำหรับรถเข็นเข็นเข้าได้ และต้องไม่เปิดยากจนเกินไป ควรเป็นแบบเลื่อนเพื่อความสะดวกในการเปิด-ปิด และน้ำหนักเบา รวมถึงการติดตั้งที่ปลอดภัย ไม่ชำรุดเสียหายได้ง่าย ถึงแม้ท่านเป็นผู้สูงอายุก็อยากจะเดินเหินสะดวกเหมือนวัยหนุ่มสาวเช่นกัน
10. สัญญาณและปุ่มขอความช่วยเหลือ
แม้จะเตรียมความพร้อมมากแค่ไหน แต่อุบัติเหตุก็อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
การติดปุ่มขอความช่วยเหลือในบริเวรณหลักของบ้าน รวมถึงพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลาบ่อยๆ จะช่วยให้การช่วยเหลือถึงได้ทันท่วงที เพราะผู้สูงอายุช้าไม่ได้ ยิ่งอุบัติเหตุที่เกิดได้ตลอด อันตรายที่สุดคือผู้สูงอายุลื่นแต่ไม่มีใครในบ้านทราบ จนไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที การมีปุ่มสัญญาณนี้จะช่วยป้องกันอันตรายได้อีกขั้นหนึ่ง
สรุป
จากที่กล่าวมาจะพบว่า โครงสร้างของบ้านที่มีผู้สูงอายุมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก ทั้งการเลือกซื้อของใช้ หรือการต่อเติมบ้านเพิ่มเติม แต่หากมองว่าเป็นการสร้างความปลอดภัยให้คนที่คุณรัก การต่อเติมบ้านก็เป็นเพียงประเด็นเล็กน้อย
(ที่มา: https://blog.ghbank.co.th)